Skip to main content

เรียนไปทำไร ? EP.1 วิศวกรรมการบินและอวกาศ

เรียนไปทำไร?

เรียนไปทำไร ? EP.1 วิศวกรรมการบินและอวกาศ

         สวัสดีค่ะ อาจารย์มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบิน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. และเคยผ่านการฝึกเป็นนักบินอวกาศที่ Basecamp ของ NASA ค่ะ

 

พอพูดถึง “อวกาศ” ทุกคนจะอยากรู้ สนใจ อยากค้นหา พื้นที่ดำว่างเปล่าที่เราคิดว่ามันไม่มีอะไร มันกลับมีอะไรมากมาย เพียงแต่ว่าตาของเรายังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแค่นั้นเอง เทคโนโลยีดาวเทียมเนี่ย มันเป็นอะไรที่เรามีเป็นของตัวเองเยอะ แต่เรากลับซื้อมาจากต่างชาติ ประเทศไทยเราต้องการวิศวกรที่เป็น “นวัตกร” สามารถสร้างนวัตกรรมได้ คือการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อใช้ในประเทศตัวเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ และเป็นทางออกของประเทศที่จะหลุดออกจากประเทศที่เป็นกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้น มันเลยต้องยกระดับทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคน ต้องมีความสามารถ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องสร้างนวัตกรรมได้

ทุกวันนี้เราพึ่งพาวัตถุอะไรบ้างในอวกาศ ? เวลาเราเดินทาง เราจะใช้ GPS ใช้โทรศัพท์มือถือในการรับสัญญาณจากดาวเทียม ซึ่งถ้าเกิดว่าเราไม่มีดาวเทียม GPS ที่โคจรอยู่ตรงนี้ เราก็จะไม่สามารถรู้ตำแหน่งตัวเองได้เลย หรือว่าการสื่อสาร ถ้าเราไม่มีดาวเทียมสื่อสารตรงนี้ เราก็จะดูทีวีไม่ได้ หรือว่าดาวเทียมสำรวจทรัพยากร จริง ๆ เป็นดาวเทียมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นตัวที่ตอบโจทย์ได้ดี เพราะว่ามันขึ้นไปได้สูงมากระดับหนึ่งเลย ประมาณ 800 กิโลเมตร แล้วถ่ายภาพมา จะเห็นภาพกว้าง Shot เดียวเห็นทั้งภูมิภาคของประเทศไทยเลย มันจะสามารถรู้ได้เลยว่าตอนนี้เราเพาะปลูกอะไร ตอนนี้มีไฟป่าเกิดขึ้นที่ไหน ตอนนี้มีการบุกรุกพื้นที่ยังไงบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ มีความจำเป็นมาก ๆ สำหรับภาครัฐ ในการเอาไปตัดสินใจ หรือว่าพัฒนานโยบายต่าง ๆ ได้

          หลักสูตรของวิศวกรรมการบินและอวกาศ แบ่งเป็น 3 สาขาวิชา จะมีเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยาน เรื่องเกี่ยวกับโดรน และเรื่องเกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ในส่วนของอาจารย์จะรับผิดชอบในเรื่องสาขาเทคโนโลยีอวกาศ เราตั้งใจว่าจะให้น้อง ๆ นักศึกษา ได้มีโอกาสในการสร้างดาวเทียมจริง ๆ ไม่ใช่แค่ทดสอบในห้องปฏิบัติการ แต่เราจะเอาขึ้นไปทดสอบที่ความสูงประมาณ 40 กิโลเมตร เป็น High-altitude Balloon คล้ายๆกับโดรน แต่ว่าเอาบินขึ้นไปที่ขอบอวกาศเลย และทดสอบอยู่ตรงนั้น ประมาณ 100 วัน ว่ามันสามรถทำงานได้จริงไหม ก่อนที่จะไปส่งขึ้นอวกาศจริง ๆ ดังนั้น คนที่จบออกไป เขาจะมีความคิดสร้างสรรค์ ในการที่จะสร้างนวัตกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เขาสามารถที่จะผันตัวไปทำนวัตกรรมอื่น ๆ ได้ จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นนักนวัตกรรมอวกาศก็ได้ จะเป็นนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น นวัตกรรมการแพทย์ รถไฟ รถยนต์ ซึ่งประเทศไทยเรามีความต้องการสูงมาก เพราะว่าตอนนี้เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง เขาก็จะไปทำได้หมด มันเลยเป็นการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ดังนั้น หลักสูตรนี้เลยออกแบบให้เป็นวิศวกรที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมได้จริง

          เรียนไม่เก่ง จะเข้ามาเรียนที่นี่ได้หรือเปล่า ? บอกได้เลยว่าของเราต้องการคนที่มีความตั้งใจ ถ้ามีทักษะในการใช้เทคโนโลยี ทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นพื้นฐานเนี่ย ไปได้ไกลแน่นอน เพราะว่าสามารุต่อยอดได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Simulation หรือว่าการเขียนโปรแกรมต่างๆ ซึ่งเป็นทักษะที่มีความต้องการสูงมากในปัจจุบัน ดังนั้นเราเลยไม่ได้จำกัดว่า เกรดต้องเป็นเท่าไหร่ หรือว่าต้องเรียน Math ได้แบบ 100% ไหม เป็นนักเรียนที่มีความสนใจเข้ามา ก็สามารถที่จะฝึกฝนตัวเองได้แน่นอน

Share this page