Skip to main content

สจล.ร่วมมือกับสำนักงานเกษตร อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ให้ความรู้กับเกษตรกรในการปลูกมันสำปะหลัง

16

สจล.ร่วมมือกับสำนักงานเกษตร อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ให้ความรู้กับเกษตรกรในการปลูกมันสำปะหลัง

        (25 มกราคม 2567) ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี  โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สจล.และทีมงานร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ลงพื้นที่นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิธีการที่จะเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้คุณภาพและมีผลผลิตต่อไร่สูง การลดต้นทุน การคัดเลือกพันธุ์ การจัดหาท่อนพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค การจัดการโรคใบด่าง การจัดการแมลงศัตรูพืชมันสำปะหลัง ให้กับเกษตรกรใน ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ในตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง มีความต้องการปลูกต้นมันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่ง แต่เกษตรกรยังมีปัญหา ขาดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลต้นมันสำปะหลัง ทางศูนย์วิจัยและถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สจล. และคณะวิทยาศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญนี้จึงจัดตั้งทีมงานขึ้นมาประกอบด้วย ศ. ดร.ภัคพงศ์ ปวงสุข รศ. ดร.สุพัตรา โพิธิ์เอี่ยม ผศ. ดร.นฤมล ตั้งธีระสุนันท์ และผศ.ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์ สร้างฐานการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง จ.ระยอง มอบสายพันธุ์เพื่อทดลองปลูกในแปลงของสถาบัน เราได้สายพันธุ์จำนวนมากมาทดลองปลูกเพื่อที่จะดูว่าในพื้นที่องค์พระ เหมาะกับสายพันธุ์ไหน ให้ผลผลิต จำนวนน้ำหนักของหัว เปอร์เซ็นต์แป้ง การต้านทานโรคต่างๆ ในระยะแรกเราศึกษาความเหมาะสมของสายพันธุ์ ของดินในการเพาะปลูกในพื้นที่ด่านช้าง เมื่อได้พันธุ์ที่เหมาะสมแล้ว เราก็จะส่งเสริมให้ปลูกเพื่อนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูป เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

นายหอมหวน แก้วจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านวังจระเข้ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ขณะนี้ หันมาปลูกมันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างต่ำ เมล็ดพันธุ์เก็บไว้ปลูกครั้งต่อไปได้ และสามารถปลูกหมุนเวียนได้หลังจากปลูกข้าวโพด ปีแรกปลูกได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย เพราะจะได้ปุ๋ยจากข้าวโพด ทนทานแล้ง ถ้าไม่มีโรค ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การที่ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สจล.เข้ามาช่วยให้ความรู้กับเกษตรกรเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ครับ ทำให้เกษตรกรได้รู้ว่าพื้นที่ของเราปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ไหนที่จะให้ผลผลิตดีที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรของเรา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นไปด้วย

ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี  พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจร ร่วมกับชุมชนด้านเกษตรอัจฉริยะ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร

บทความโดย

pr_1

จำนวนผู้เข้าชม

สำนักงานสื่อสารองค์กร สจล.

Share this page